4-29 กรกฎาคม 2565

โครงการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ "เรื่อง การพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และการดูแลจัดการผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ"


ลงทะเบียนออนไลน์
    ผู้ป่วยวิกฤต คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาความเสี่ยงสูงหรือมีภาวะคุกคามต่อชีวิต จากอาการที่มีความซับซ้อนและไม่คงที่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบันได้มีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยมาใช้ในการรักษาและติดตามอาการของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ดีในสถานการณ์โลกปัจจุบันมีการเกิดโรคอุบัติการณ์ใหม่ที่รุนแรงคุกคามต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่งผลให้ยอดของผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยเพิ่มขึ้น

    ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตโดยทั่วไปมักจะพบปัญหาของภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเป็นหลัก อาจพบร่วมกับภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการประคับประคองการทำงานของระบบหายใจ เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อในการหายใจ หลีกเลี่ยงการทำให้กล้ามเนื้อในการหายใจเหนื่อยล้า และช่วยฟื้นคืนสภาพผู้ป่วยจากกระบวนการอักเสบติดเชื้อที่คุกคามต่อชีวิต ทั้งจากภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และภาวะการหายใจเป็นกรด บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะพยาบาลซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรด่านหน้า จำเป็นต้องมีการพัฒนาความรู้และทักษะทางการพยาบาลให้ทันต่อสภาวะการณ์ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการตาย ลดอัตราความพิการ ลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งขณะเจ็บป่วยและภายหลังการเจ็บป่วย

    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และการดูแลจัดการผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงได้จัดโครงการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และการดูแลจัดการผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจขึ้น โดยในการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ (workshop) ครั้งนี้มีจุดเน้นถึงการพยาบาลที่ทันสมัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยผู้ใหญ่ ซึ่งครอบคลุมในการพยาบาลผู้ป่วยในระบบทางเดินหายใจ ตลอดจนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจในหอผู้ป่วยวิกฤต อันเนื่องมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาทิเช่น การติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ครอบคลุมถึงมุมมองและประสบการณ์ของแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญ โดยเน้นการนำข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางคลินิกและการพัฒนาคุณภาพการบริการให้กับการพยาบาล นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของผู้รับบริการต่อไป

เป้าหมายของโครงการ
    ผู้เข้าร่วมประชุมพยาบาลวิชาชีพจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 30-40 คน

กิจกรรมและเนื้อหาที่จะดำเนินการ
    1. การจัดประชุมทางไกล ประกอบด้วย บรรยาย อภิปราย ซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
    2. การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ณ โรงพยาบาลพิษณุเวช และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก

วัน เวลา และสถานที่ในการดำเนินการ
    1. การจัดประชุมวิชาการทางไกล ผ่านโปรแกรม zoom ระหว่างวันที่ 4-15 กรกฎาคม 2565 รวม 10 วัน (จำนวน 60 ชั่วโมง)
    2. การขึ้นฝึกปฏิบัติ ณ โรงพยาบาลพิษณุเวช อ.เมือง จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 18-29 กรกฎาคม 2565รวม 10 วัน (จำนวน 60 ชั่วโมง)

ค่าลงทะเบียน
    ค่าลงทะเบียน 15,000 บาท